ประวัติโป๊ยเซียน
โป๊ยเซียน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Euphorbia milli Desmoul) เป็นหนึ่งในไม้มงคล ชื่อสามัญของมันคือ Crown of thorns, Christ
Thorn จัดอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae อยู่ในสกุล
Euphorbia ซึ่งเป็นสกุลเดียวกับพืชหลายชนิด เช่น ต้นคริสต์มาส และส้มเช้า
โป๊ยเซียน มาจากภาษาจีน แปลว่าเทพยดาทั้ง 8 องค์ ได้แก่ เซียนทิก๋วยลี้ เซียนฮั่นจงหลี เซียนลือท่งปิน เซียนเจียงกั๋วเล้า เซียนหลันไฉ่เหอ เซียนฮ่อเซียนโกว เซียนหันเซียงจือ เซียนเชาก๊กกู๋ เชื่อกันว่า
ถ้าบ้านใดมีดอกโป๊ยเซียนครบ 8 ดอก
จะนำความโชคดีมาให้แก่บ้านของผู้นั้น
การปลูกเลี้ยงและดูแลรักษา
แม้ว่าต้นโป๊ยเซียนจะสามารถปรับตัวและเจริญเติบโตได้ดีในทุกภูมิภาคของไทยก็ตาม
แต่การปลูกโป๊ยเซียนให้สวยงามนั้น นอกจากสภาพแวดล้อมแล้ว การดูแลรักษาก็นับว่ามีส่วนสำคัญ
ดินปลูก
ควรเป็นดินชั้นบนมีอินทรียวัตถุพวกเศษพืช
โดยเฉพาะใบก้ามปูและใบทองหลางที่เน่าเปื่อยผุพังคลุกเคล้าอยู่ในดินจนเป็นเนื้อเดียวกัน
ดินประเภทนี้จะอุ้มน้ำและระบายอากาศได้ดี
ทำให้รากของโป๊ยเซียนแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
การใช้ดินปลูกที่แน่นทึบและมีน้ำขังอาจทำให้รากและต้นโป๊ยเซียนเน่าได้
เมื่อปลูกโป๊ยเซียนได้ระยะหนึ่งควรทำการพรวนดินรอบๆ กระถางปลูก
ห่างจากโคนต้นประมาณ 2 นิ้ว พร้อมทั้งใส่ปุ๋ยคอกลงไปในดินประมาณ 1-2 ช้อนแกง
และควรเปลี่ยนดินปลูกทุกปี
แสงแดด
โป๊ยเซียนเป็นไม้ที่ชอบแดด
การปลูกถ้าให้โป๊ยเซียนได้รับแสงแดดประมาณ 60-70%
จะดีมาก โดยเฉพาะแดดตอนเช้าถึงตอนสายก่อนเที่ยง ถ้าได้รับแสงแดด 100%
ทั้งวันต้นจะแข็งแรง สีของดอกจะเข้มแต่เล็กลงกว่าเดิม
นอกจากนี้ใบยังอาจจะไหม้เกรียมได้ ถ้าให้โป๊ยเซียนได้รับแดดน้อยหรืออยู่ในร่ม
ดอกจะโต สีดอกไม่เข้ม ต้นไม่แข็งแรง
ดังนั้นจึงควรจัดให้โป๊ยเซียนได้รับแสงแดดประมาณ 60-70% โดยใช้ตาข่ายพรางแสงช่วยก็จะดีมาก
อย่างไรก็ตามในฤดูร้อนอากาศแห้งแล้งแดดจัดและร้อนมากเกินไปอาจทำให้โป๊ยเซียนเหี่ยวเฉาได้
ดังนั้นความชุ่มชื้นในอากาศก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโป๊ยเซียนเช่นกัน
การรดน้ำ
ตามปกติควรรดน้ำวันละครั้งในตอนเช้าและควรรักษาระดับความชื้นของดินให้พอเหมาะไม่แฉะหรือแห้งเกินไป
เช่น ถ้าเป็นช่วงฤดูแล้งดินปลูกแห้งมากควรรดน้ำทั้งเช้าและเย็น
ฤดูฝนถ้าวันใดฝนตกก็ไม่จำเป็นต้องรดน้ำแต่ควรตรวจดูผิวดินในกระถางด้วย
ทั้งนี้เพราะใบของโป๊ยเซียนอาจปกคลุมกระถางจนทำให้ฝนที่ตกลงมาไม่สามารถลงไปในกระถางได้
ถ้าโป๊ยเซียนกำลังออกดอกควรหลีกเลี่ยงอย่าให้น้ำไปถูกดอกเพราะจะทำให้ดอกเน่าและร่วงเร็วกว่าปกติ
สำหรับน้ำที่ใช้รดควรเป็นน้ำที่มีสภาพเป็นกลาง ถ้าน้ำมีสภาพเป็นกรดอาจผสมปูนที่ใช้กินกับหมากลงไปเล็กน้อยก็ได้
ถ้าเป็นน้ำประปาหรือน้ำบาดาลควรมีบ่อหรือถังพักน้ำไว้หลายๆ วันจึงจะนำมาใช้ได้
การตัดแต่งกิ่ง
โป๊ยเซียนบางต้นมีการแตกกิ่งก้านสาขามาก
บางต้นมีลำต้นเดียวไม่ค่อยแตกกิ่งก้านสาขา
ต้นที่มีกิ่งก้านสาขามากจะเป็นพุ่มทึบแสงแดดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
ทำให้โป๊ยเซียนออกดอกน้อยและมีขนาดเล็ก
นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งหลบซ่อนของโรคและแมลงศัตรูพืช
ควรตัดกิ่งก้านออกบ้างเพื่อให้แสงและอากาศถ่ายเทได้สะดวก
การตัดควรตัดให้ชิดลำต้นไม่ควรเหลือตอกิ่งไว้
กิ่งที่เหลือไว้ควรให้มีรูปทรงสวยงามเป็นไปตามธรรมชาติ หลังจากตัดกิ่งออกแล้วควรใช้ปูนแดงทาบริเวณรอยตัดเพื่อป้องกันเชื้อรา ส่วนกิ่งที่ตัดออกอาจนำไปขยายพันธุ์ต่อไป
สำหรับโป๊ยเซียนที่มีลำต้นเดี่ยวไม่ค่อยแตกกิ่งก้าน ถ้ากิ่งสูงมากเมื่อโดนลมแรงๆ
อาจทำให้ต้นหักได้ควรตัดยอดไปขยายพันธุ์เป็นต้นใหม่ ส่วนโคนที่เหลือก็จะแตกกิ่งก้านออกมาใหม่
การให้ปุ๋ย
เมื่อปลูกโป๊ยเซียนเป็นเวลานานธาตุอาหารในดินก็จะถูกใช้ไปเรื่อยๆ
จึงจำเป็นต้องเพิ่มธาตุอาหารหรือปุ๋ยลงไปในดิน
การใส่ปุ๋ยให้กับโป๊ยเซียนสามารถใส่ได้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยวิทยาศาสตร์หรือปุ๋ยเคมี
ปุ๋ยอินทรีย์อาจเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เช่น มูลวัว มูลสุกร มูลไก่ มูลค้างคาว
รวมทั้งปุ๋ย กทม. ปุ๋ยเหล่านี้ทำให้ดินร่วนซุย ระบายถ่ายเทอากาศได้ดี
ควรใส่เดือนละครั้งสลับกับการใส่ปุ๋ยเคมี
ปุ๋ยเคมีควรใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพดีซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งปุ๋ยละลายช้า
ปุ๋ยเกล็ดและปุ๋ยน้ำโดยปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลากอย่างเคร่งครัด
การให้ปุ๋ยเคมีควรให้ในช่วงเช้าและควรงดน้ำก่อนให้ปุ๋ย 1 วันเพื่อกระตุ้นให้รากดูดปุ๋ยได้มากขึ้น
ควรรดหรือโรยเฉลี่ยรอบๆ ต้นเดือนละ 1-2 ครั้ง
สำหรับไม้ที่ปลูกใหม่ๆ
ยังไม่ควรให้ปุ๋ยเคมีเพราะระบบรากยังจับตัวกับดินไม่ดีพอประกอบกับรากอาจมีการฉีกขาด
เนื่องจากการเปลี่ยนดินทำให้ปุ๋ยกระทบรากโดยตรงและเร็วเกินไป
อาจทำให้โป๊ยเซียนตายได้
การใส่ปุ๋ยเพื่อให้โป๊ยเซียนออกกิ่งหรือดอกมีวิธีปฏิบัติดังนี้
การปลูกเลี้ยงเพื่อให้แตกกิ่ง
การทำให้โป๊ยเซียนคายน้ำน้อยๆ
จะทำให้โป๊ยเซียนไม่ออกดอกแต่จะแตกกิ่งแทน ดังนั้นสถานที่ปลูกจึงควรเป็นที่อับลม
มีลมพัดผ่านน้อย มีแสงแดดไม่มากหรือพรางแสงด้วยที่พรางแสงประมาณ 60-70% มีความชื้นแต่ไม่แฉะ การวางกระถางก็ควรวางให้สูงจากพื้นเพียงเล็กน้อย
นอกจากนี้การยืดช่วงเวลากลางวันให้ยาวออกไปโดยการใช้หลอดไฟ Day Light
60-100 วัตต์ ส่องให้กับต้นโป๊ยเซียนในเวลากลางคืนก็จะช่วยให้ต้นโป๊ยเซียนออกกิ่งได้ดีขึ้น
สำหรับดินที่ปลูกควรผสมปุ๋ยคอกมูลสัตว์ เช่น มูลวัว มูลไก่
ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ก็ควรใช้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง เช่น 15-5-5, 25-7-7 ในปริมาณน้อยๆ ทุก 7-10 วัน
การปลูกเลี้ยงเพื่อให้ออกดอก
จะตรงข้ามกับกับการปลูกเพื่อให้แตกกิ่ง
คือการวางกระถางควรวางให้สูงจากพื้นประมาณ 60-70 ซม.
เพื่อให้อากาศพัดผ่านก้นกระถางได้สะดวก เมื่อโป๊ยเซียนคายน้ำมากจะทำให้ออกดอก
แสงแดดควรให้มากกว่า 50% หรือพรางแสงด้วยที่พรางแสง 40-50%
แสงแดดจะช่วยให้สีของดอกมีสีเข้มขึ้น แต่ไม่ควรให้โป๊ยเซียนถูกแสงแดด
100% หรือถูกแสงแดดโดยตรงจะทำให้ใบไหม้เกรียมได้
ดินปลูกไม่ควรมีปุ๋ยคอกมูลสัตว์มากนัก
ควรใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่มีธาตุฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง เช่น 12-24-12, 8-24-24
จะเป็นปุ๋ยที่ให้ทางดินหรือทางใบก็ได้
การรดน้ำก็ไม่ควรรดให้แฉะเกินไป เพราะจะทำให้ก้านส่งดอกยาว
ออกดอกซ้อนและดอกจะโรยเร็ว
นอกจากนี้ก็ไม่ควรรดน้ำให้ถูกดอกเพราะจะทำให้เกสรดอกเน่าดำหมดความสวยงามได้
บรรณานุกรม
ประวัติโป๊ยเซียน https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%9B%E0%B9%8A%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99_(%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B8%8A) แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่
24 เมษายน 2556 เวลา 12:50
น.
การปลูกเลี้ยงและดูแลรักษา
(วันที่สืบค้นข้อมูล
25 มิถุนายน 2558)
รูปภาพ https://www.google.co.th/url